วันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

บทที่ 1 ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสารสนเทศ

1.1 กำเนิดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

                เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่พึ่งมีขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 20 ปีที่ผ่านมานี่เอง เป็นเทคโนโลยีที่เกิดจากการรวมเทคโนโลยี 2 ประเภทเข้าด้วยกัน คือ
1.   เทคโนโลยีโทรคมนาคม
2.   เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์
             สารสนเทศ หมายถึง ตัวเนื้อหาสาระของข้อมูลข่าวสาร  โดยใช้คอมพิวเตอร์ทำหน้าที่รวบรวม จัดเก็บปรับเปลี่ยนรูปแบบของสารสนเทศและใช้เทคโนโลยีโทรคมนาคมซึ่งพัฒนามาจากเครือข่ายโทรทัศน์และเครือข่ายวิทยุมาสร้างระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขึ้นเป็นการนำเอาความสามารถของคอมพิวเตอร์ (คำนวณ ประมวลผล เปรียบเทียบ และตรวจสอบ ได้รวดเร็ว ถูกต้องแม่นยำ) มารวมกับความสามารถของระบบโทรคมนาคม (ติดต่อได้รวดเร็วและกว้างไกล)
          ดังนั้นเทคโนโลยีสารสนเทศ จึงหมายถึง เทคโนโลยีที่ใช้ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์มาจัดการเกี่ยวกับสารสนเทศนั่นเอง

1.2 ประวัติโดยย่อของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

เทคโนโลยีโทรคมนาคม
 เทคโนโลยีโทรคมนาคม  เริ่มจากการประดิษฐ์โทรเลขของ  แซมวล  มอร์ส  (Samual Morse) ในปี .ศ. 2380 นับว่าเป็นครั้งแรก ที่ข่าวสารถูกแปลงเป็นสัญญาณไฟฟ้า ส่งไปตามสายเป็นระยะทางไกลๆ ได้โดยอาศัยวิธีการเข้ารหัสตัวอักษร เป็นรหัสอื่นที่ประกอบด้วยจุด (.) และขีด (-) เช่น สัญญาณข้อความช่วยเหลือฉุกเฉิน SOS จะเข้ารหัสเป็น... - - - ... การรับส่งโทรเลขได้ถูกนำมาใช้งานในเชิงการค้าตั้งแต่ พ.ศ. 2387 เป็นต้นมา และในปี พ.ศ. 2401 ได้มีการวางสายเคเบิล ใต้มหาสมุทรแอตแลนติก ทำให้เกิดการสื่อสารข้ามทวีประหว่างทวีปอเมริกากับทวีปยุโรปขึ้นเป็นครั้งแรก                            
             ในปี พ.ศ. 2419 อเล็กซานเดอร์ แกรแฮม เบลล์ (Alexander Graham Bell) ได้ประดิษฐ์โทรศัพท์ และได้ตั้งชุมสายโทรศัพท์แห่งแรกที่เมืองนิวเฮเวน รัฐคอนเนตทิคัต สหรัฐอเมริกา จากนั้นเครือข่ายโทรศัพท์ได้ขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว จนในปัจจุบันสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ด้วยระบบโทรศัพท์ทางไกลอัตโนมัติ นับเป็นพัฒนาการอันยิ่งใหญ่ด้านเทคโนโลยีเครือข่ายโทรคมนาคม
           ด้านการสื่อสารไร้สาย ได้มีการพัฒนาการค้นพบคลื่นวิทยุในปี พ.ศ. 2430 โดย ไฮน์ริช แฮตน์
(เฮิร์ต) (Heinrich Hertz) และต่อมาปี พ.ศ. 2437 กูกลิเอลโม มาร์โคนี (Guglielmo Marconi) สามารถประดิษฐ์เครื่องรับส่งวิทยุเครื่องแรกได้สำเร็จ จากนั้นได้มีพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่สำคัญหลายอย่าง ดังต่อไปนี้
          ในปี พ.ศ. 2477-2479 จอห์น เฟลมมิง (John Flemming) และ ลี เดอ ฟอเรสต์ (Lee De Forest) ได้ประดิษฐ์หลอดสุญญากาศซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายการแปรรูปสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์
            ในปี พ.ศ. 2497 วลาดิเมียร์ สวอริคิน (Vladimir Zworykin) ได้ประดิษฐ์หลอดภาพโทรทัศน์ ซึ่งเป็นที่มาของจอภาพคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน
          ในปี พ.ศ. 2490 ชอกลีย์ บาร์ดีน และ แบรตเทน (Schockley, Bardeen and Brattain) ได้ประดิษฐ์ทรานซิสเตอร์ ซึ่งเป็นที่มาของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสารกึ่งตัวนำไอซีและซีพียูในคอมพิวเตอร์
          ในปี พ.ศ. 2500 คิลบี และ นอยส์ (Jack Kilby, Robert Noyce) ได้ประดิษฐ์วงจรรวมหรือไอซี ซึ่ง เป็นเทคโนโลยีย่อส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทำให้คอมพิวเตอร์ในปัจจุบันมีสมรรถนะสูงและมีขนาดเล็ก
         ในปี พ.ศ. 2504 บริษัทเอทีแอนด์ที ได้สร้างดาวเทียมสื่อสาร เทลสตาร์ 1 เป็นดาวเทียมสื่อสารดวงแรกของโลก

1.3 ความหมายและความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ความหมายของเทคโนโลยีสารสนเทศ
            คำว่า   เทคโนโลยีสารสนเทศ ประกอบคำ 2 คำ ได้แก่ เทคโนโลยี และ สารสนเทศซึ่งแต่ละคำมีความหมายดังนี้
            เทคโนโลยี  (Technology)  เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละตินว่า  TEXERE  มีความหมายตรงกับภาษาอังกฤษ ว่า  toweave  แปลว่า  สาน  เรียบเรียง  ถักทอ ปะติดปะต่อ และ  construct  แปลว่า  สร้าง  ผูกเรื่อง  ความรู้สึกนึกคิดที่ก่อให้เกิด ส่วนเทคโนโลยี ในรากศัพท์ภาษากรีกมาจากคำว่า technologia แปลว่า การทำงานอย่างเป็นระบบ (systematic treatment) (วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม, 2539)
            คาร์เตอร์ วี กู๊ด  (Good, 1973) ได้ให้ความหมายของเทคโนโลยี ว่า หมายถึง การนำเอา วิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในวงการต่างๆ โดยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
            เอดการ์ เดล (Dale, 1965) กล่าวว่า เทคโนโลยีไม่ใช่เครื่องมือ แต่เป็นแผนการวิธีการทำงานอย่างเป็นระบบที่ให้ผลบรรลุตามแผนการ
            ไฮนิช และ คนอื่นๆ  (Heinech and Others, 1989)   ได้อธิบายว่า เทคโนโลยีจำแนกออกเป็น  3  ลักษณะ คือ
                               1)  เทคโนโลยีในลักษณะของกระบวนการ (process) เป็นการใช้วิทยาศาสตร์และความรู้ต่างๆ ที่รวบรวมไว้อย่างเป็นระบบเพื่อนำไปสู่ผลในทางปฏิบัติโดยเชื่อว่าเป็นกระบวนการที่เชื่อและนำไปสู่การแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้
                               2)  เทคโนโลยีลักษณะของผลผลิต  (product and product)  หมายถึง  วัสดุและอุปกรณ์ที่เป็นผลมาจากการใช้กระบวนการทางเทคโนโลยี เช่น ฟิล์มภาพยนตร์เป็นผลผลิตของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเช่นเดียวกับเครื่องฉายภาพยนตร์ หรือหนังสือเป็นผลผลิตของเทคโนโลยีเช่นเดียวกับแท่นพิมพ์หนังสือ เป็นต้น
                               3)  เทคโนโลยีลักษณะผสมของกระบวนการและผลผลิต  (process and product) ซึ่งใช้ร่วมกันสองลักษณะ เช่น เทคโนโลยีช่วยให้ระบบการรับส่งข้อมูลเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว  ทั้งนี้เป็นผลจากความก้าวหน้าของการประดิษฐ์วัสดุอุปกรณ์เพื่อการรับส่งข้อมูล ตลอดจนเทคนิควิธีการต่างๆ เพื่อให้ระบบส่งข้อมูลเป็นไปได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว และในลักษณะของกระบวนการซึ่งไม่สามารถแยกออกจากผลผลิตได้  เช่น  ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีการทำงานเป็นปฏิสัมพันธ์กันระหว่างตัวเครื่องกับโปรแกรม เป็นต้น
            ชัยยงค์ พรหมวงศ์ (2520) ได้ให้ความหมายของเทคโนโลยีไว้ว่าตามรูปศัพท์ภาษาอังกฤษคำว่า Technology ซึ่งหมายถึงการปฏิบัติการ และสิ่งประดิษฐ์ที่อยู่ในรูปแบบของการจัดระบบงานอันประกอบด้วยองค์สาม คือ
            1)  ข้อมูลที่ใส่เข้าไป ได้แก่ การกำหนดปัญหาหรือความต้องการ การตั้งวัตถุประสงค์ การรวบรวมข้อมูลหรือวัตถุดิบที่เกี่ยวข้องทุกแง่ทุกมุม
            2)  กระบวนการ ได้แก่ การลงมือปฏิบัติการ การแก้ปัญหา การจำแนกแจกแจง การวิเคราะห์และการสังเคราะห์ข้อมูล   เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์
            3)  ผลลัพธ์ คือ ผลที่ได้จากการแก้ปัญหาหรือการดำเนินงาน สามารถวัดและประเมินผลได้ นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอน
ทัศนะเกี่ยวกับเทคโนโลยี
            จากความหมายของเทคโนโลยีดังกล่าวมาแล้ว ทำให้นักการศึกษามีทัศนะหรือความคิดเห็นเกี่ยวกับเทคโนโลยีแตกต่างกัน โดยแบ่งออกเป็น  2  ทัศนะ  คือ
           1.  ทัศนะด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ  (science technology)  มุ่งเน้นการพัฒนาวัสดุอุปกรณ์ให้เจริญก้าวหน้าด้วยความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เพื่อสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการดำเนินงานสาขาต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยทั่วไปวัสดุอุปกรณ์เทคโนโลยีมีองค์ประกอบสำคัญคือ เครื่องยนต์ กลไก ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตามเครื่องมือหรือวัสดุอุปกรณ์เหล่านี้นักการศึกษาให้ความเห็นว่าเป็นเทคโนโลยีประเภทเครื่องมือ  (Tools technology)
            2.  ทัศนะด้านพฤติกรรมศาสตร์  (behavioral technology)  เป็นเทคโนโลยีที่มุ่งเน้นกระบวนการคิดและการทำงานอย่างเป็นระบบ โดยอาศัยการผสมผสานความรู้จากศาสตร์หลายๆ ด้านเข้าด้วยกัน เช่น มนุษยศาสตร์ จิตวิทยาสังคม  จิตวิทยาการเรียนการสอน  ประวัติศาสตร์  เศรษฐศาสตร์ ฯลฯ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะสำคัญของแต่ละงานในบางสถานการณ์อาจนำวัสดุอุปกรณ์เข้ามาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินงาน  แต่เป็นเพียงเครื่องมือสนับสนุนเท่านั้น
            จากความหมายและลักษณะของเทคโนโลยีดังกล่าวมาแล้วพอสรุปได้ว่า เทคโนโลยี หมายถึง วิธีการหรือกระบวนการในการนำความรู้สาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานมาประยุกต์ใช้อย่างเป็นระบบ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการดำเนินงานที่มีระบบและวิธีการที่ก้าวหน้าจึงนิยมใช้คำว่าเทคโนโลยีนำหน้าเสมอ เช่น เทคโนโลยีการสื่อสาร  เทคโนโลยีการเกษตร  เทคโนโลยีการศึกษา  เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น
สารสนเทศ (Information)
            สารสนเทศ  หมายถึง  ข้อมูลที่ได้รับตีความ  จำแนกแจกแจง  จัดหมวดหมู่  หรือประมวลผลจนมีสาระอยู่ในตัวมันเอง  สามารถสื่อความหมายให้เกิดการเข้าใจกับผู้ที่ต้องการใช้ข้อมูลนั้น และสามารถที่จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้ โดยข้อมูลที่นำมาประมวลผลนั้นอาจจะมาจากแหล่งต่าง ๆ ทั้งภายในหรือภายนอกองค์การ
เทคโนโลยีสารสนเทศ  (Information Technology)
            เมื่อเนื้อหาข้อมูลมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาล  เราจึงนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการจำแนก  จัดหมวดหมู่  จัดเก็บข้อมูลและสารสนเทศ  ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นจึงเรียกวิธีการดำเนินงานเช่นนี้ว่าเทคโนโลยีสารสนเทศ  (Information Technology : IT)
เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology)
            ปัจจุบันกระแสโลกาภิวัตน์แผ่อิทธิพลไปสู่สังคมโลกทำให้ข้อมูลข่าวสารสามารถเชื่อมโยงกันแบบเครือข่ายหรือใยแมงมุมได้ทั่วทุกมุมโลกโดยใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีการสื่อสาร เช่น  โทรศัพท์ ดาวเทียม เส้นใยแก้วนำแสง ไมโครเวฟ ผสมผสานกันเพื่อให้สามารถสื่อสารกันได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้นเราจึงเรียกกระบวนการนี้ว่า เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  (Information Communication Technology: ICT)
ความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศ
            ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทอย่างแพร่หลาย  เป็นที่สนใจของคนทุกมุมโลกทุกสาขา สามารถนำมาใช้ในการดำเนินงานและชีวิตประจำวันได้อย่างกว้างขวางการจัดการเรียนรู้และการศึกษาในสมัยนี้จึงมีหลักสูตรที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีเข้าไปด้วย เทคโนโลยีที่มีความสำคัญและเจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศ  เพราะปัจจุบันนี้อุปกรณ์หลายชนิดก็ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีสารสนเทศ  ไม่ว่าจะเป็น  คอมพิวเตอร์  โทรศัพท์  มือถือ  อินเทอร์เน็ต  PDA  GPS  ดาวเทียมและเมื่อไม่นานมานี้มีการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  เป็นการบ่งบอกว่าสังคมให้ความสำคัญแก่คอมพิวเตอร์มากขึ้น


เทคโนโลยีสารสนเทศมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เป็นอย่างมาก ดังนี้
            1)  ด้านวิชาการ เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยในการค้นคว้าศึกษาแหล่งข้อมูล ทำให้การศึกษาง่ายขึ้นและไร้ขีดจำกัด ผู้เรียนมีความสะดวกในการศึกษาค้นคว้าวิจัย
            2)  การดำรงชีวิตประจำวัน ช่วยให้มีความสะดวกคล่องตัวและรวดเร็วในการทำกิจกรรมต่าง ๆ สามารถทำงานได้หลายอย่างในเวลาเดียวกัน ช่วยให้การทำงานใช้เวลาน้อยลง
            3)  การดำเนินธุรกิจ ทำให้มีการแข่งขันระหว่างธุรกิจมากขึ้น ทำให้ต้องมีการพัฒนาองค์กรเพื่อให้ทันกับข้อมูลข่าวสารอยู่ตลอดเวลา ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง
            4)  ด้านการติดต่อสื่อสาร ความเจริญก้าวหน้าของวิทยาการต่างๆ และปรากฏการณ์โลก
ไร้พรมแดน   ทำให้ผู้คนในสังคมมีการติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกัน   ได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง
            5)  ด้านผลผลิต ระบบการทำงานที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ จะช่วยให้ทำงานได้มากขึ้น หรือช่วยลดความเสี่ยงในงานบางอย่างโดยใช้คอมพิวเตอร์ทำงานแทนซึ่งได้ผลถูกต้องรวดเร็ว
ลักษณะสารสนเทศที่ดี
      สารสนเทศที่ดีและมีประโยชน์ในการใช้งานควรมีลักษณะดังนี้
ด้านเนื้อหา (Content)
          -  ความสมบูรณ์ครอบคลุม  (completeness)
          -  ความสัมพันธ์กับเรื่อง  (relevance)
          -  ความถูกต้อง  (accuracy)
          -  ความเชื่อถือได้  (reliability)
         -  การตรวจสอบได้  (verifiability)
ด้านรูปแบบ (Format)
         -  ชัดเจน  (clarity)
        -  ระดับรายละเอียด  (level of detail)
        -  รูปแบบการนำเสนอ  (presentation)
        -  สื่อการนำเสนอ  (media)
         -  ความยืดหยุ่น  (flexibility)
ด้านประสิทธิภาพ  (efficiency)
         -  ประหยัด  (economy)
         -   เวลา  (Time)
         -  ความรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์  (timely)
         -   การปรับปรุงให้ทันสมัย  (up-to-date)
          -  มีระยะเวลา  (time period)
ด้านกระบวนการ (Process)
        -  ความสามารถในการเข้าถึง  (accessibility)
        -  การมีส่วนร่วม  (participation)
        -  การเชื่อมโยง  (connectivity)

1.4 เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ใช้ในชีวิตประจำวัน

ในสังคมปัจจุบันไม่ว่าใครจะอยู่ที่ใด  แม้ในเมืองหรือชนบทก็ตาม  ย่อมมีการติดต่อสื่อสารกับบุคคลหรือสังคมอื่นอยู่เสมอไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง  เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็น หรือการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในชีวิตประจำวันด้วยสื่อต่างๆ  เช่น  หนังสือพิมพ์  วิทยุกระจายเสียง  วิทยุโทรทัศน์ โทรศัพท์  โทรสาร  ล้วนเป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทั้งสิ้น  นอกจากนี้ยังใช้เทคโนโลยีเครื่องมือหรือกลไกเพื่ออำนวยความสะดวก  เช่น  การถอนเงินจากเครื่องจ่ายเงินอัตโนมัติ  (ATM : Automatic Teller/Technology Machine)  การสแกนลายนิ้วมือการเข้าปฏิบัติงานในสำนักงาน  การจ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้า ผ่านบัตรแถบแม่เหล็ก  เป็นต้น  เหล่านี้เป็นตัวอย่าง การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
          

1.5 กระแสโลกาภิวัฒน์ของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

             การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  จะอาศัยองค์ประกอบต่างๆ มากมาย เช่น การใช้โทรศัพท์ ต้องอาศัยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เปลี่ยนคลื่นเสียงให้เป็นคลื่นสัญญาณไฟฟ้า และจะถูกเปลี่ยนให้เป็นสัญญาณเสียงที่เครื่องโทรศัพท์ปลายทาง ส่วนการใช้โทรศัพท์มือถือ ในการสื่อสารคลื่นเสียงจะถูกเปลี่ยนเป็นคลื่นสัญญาณไฟฟ้าวิ่งผ่านอากาศ ไปยังสถานีแม่ข่าย หรือดาวเทียมเพื่อส่งต่อคลื่นสัญณาณไฟฟ้าไปยังเครื่องรับโทรศัพท์ปลายทาง ดังนั้น เครื่องโทรศัพท์มือถือทั่วไป จะต้องมีเครื่องรับและส่งสัญญาณคลื่นเสียงที่เราพูดคุยกันและในปัจจุบันเราสามารถสื่อสารระหว่างกันโดยการใช้โทรศัพท์มือถือ  รุ่นที่สามหรือ  3G  ส่งสัญญาณเสียง  และภาพพร้อม  กันโดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสารและคอมพิวเตอร์  ทำให้เราสามารถเห็นภาพของคู่สนทนาไปพร้อมๆ กัน

1.6 บทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีต่อสังคม

ในปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  มีบทบาทที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมในหลายด้าน ซึ่งสามารถสรุปได้  ดังนี้
                  -  ช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการสื่อสารที่รวดเร็วและกว้างไกล
                 -  ช่วยทำให้วิทยาการต่างๆ เจริญก้าวหน้าและทันสมัยอย่างรวดเร็ว
                 -  การรับรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารของโลกเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็ว
                 -  สามารถเข้าถึงคลังข้อมูลข่าวสารจำนวนมาก ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ในการพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิต
                 -  สนับสนุนการทำงานและกระบวนการผลิต เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ในการวางแผนการออกแบบและการควบคุมระบบการทำงาน
                -  ส่งเสริมระบบบริหารจัดการในรูปแบบใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการหน่วยงานหรือองค์กร
                 -  กระจายโอกาสด้านการศึกษา ให้ผู้เรียนที่อยู่ห่างไกล สามารถเรียนรู้ผ่านระบบการสอนทางไกลหรือผ่านดาวเทียมได้
                 -  สามารถเผยแพร่สารสนเทศและภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สังคมโลกได้โดยง่าย เช่น การเผยแพร่งานในอินเตอร์เน็ตตำบล เป็นต้น
                  -  ช่วยให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง
1.7 ระดับของผู้ใช้ระบบสารสนเทศ
จำแนกตามลักษณะการดาเนินงาน
1. TPS – Transaction Processing Systems : ระบบสารสนเทศการประมวลผลรายการธุรกรรมข้อมูล
2. MIS – Management Information Systems : ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ
3. DSS – Decision Support Systems : ระบบสารสนเทศสนับสนุนการตัดสินใจ
4. EIS – Executive Information Systems : ระบบสารสนเทศสาหรับผู้บริหาร
5. ES – Expert Systems / AI – Artificial Intelligence : ระบบผู้เชี่ยวชาญ/ปัญญาประดิษฐ์
6. OAS – Office Automation Systems : ระบบสานักงานอัตโนมัติ หรือ OIS – Office Information Systems : ระบบสารสนเทศสานักงาน

1.8 ประเภทของระบบสารสนเทศ
ระบบสารสนเทศจำแนกตามโครงสร้างองค์การ (Classification by Organizational Structure)
            การจำแนกประเภทนี้เป็นการจำแนกตามโครงสร้างขององค์การ ตั้งแต่ระดับหน่วยงานย่อยระดับองค์การทั้งหมด และระดับระหว่างองค์การ
สารสนเทศของหน่วยงานย่อย (Departmental information system)
            หมายถึงระบบสารสนเทศที่ออกมาเพื่อใช้สำหรับหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งขององค์การ โดยแต่ละหน่วยงานอาจมีโปรแกรมประยุกต์ใช้งานใดงานหนึ่งของตนโดยเฉพาะ เช่น ฝ่ายบุคลากรอาจจะมีโปรแกรมสำหรับการคัดเลือกบุคคล หรือติดตามผลการโยกย้ายงานของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน โดยโปรแกรมทั้งหมดที่เกี่ยวข้องของฝ่ายบุคลากร จะมีชื่อว่าระบบสารสนเทศด้านทรัพยากรมนุษย์
ระบบสารสนเทศของทั้งองค์การ (Enterprise information systems)
            หมายถึงระบบสารสนเทศของหน่วยงานที่มีการเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่ทั้งหมดภายในองค์การ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือองค์การนั้นมีระบบสารสนเทศที่เชื่อมโยงทั้งองค์การ
ระบบสารสนเทศที่เชื่อมโยงระหว่างองค์การ (Interorganizational information systems-IOS)
           เป็นระบบสารสนเทศที่เชื่อมโยงกับองค์การอื่นๆ ภายนอกตั้งแต่ 2 องค์การขึ้นไป เพื่อช่วยให้การติดต่อสื่อสาร หรือการประสานงานร่วมมือมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการผ่านระบบ IOS จะช่วยทำให้การไหลของสารสนเทศระหว่างองค์การหรือทั้งซัพพลายเชน (Supply chain) เป็นไปโดยอัตโนมัติ เพื่อใช้ในการวางแผน ออกแบบ การพัฒนา การผลิต และการส่งสินค้าและบริการ
การจำแนกตามหน้าที่ขององค์การ (Classification by Functional Area)
            การจำแนกระบบสารสนเทศประเภทนี้จะเป็นการสนับสนุนการทำงานตาหน้าที่หรือการทำกิจกรรมต่างๆ ขององค์การ โดยทั่วไปองค์การมักใช้ระบบสารสนเทศในงานที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ต่างๆ เช่น
  • ระบบสารสนเทศด้านบัญชี (Accounting information system)
  • ระบบสารสนเทศด้านการเงิน (Finance information system)
  • ระบบสารสนเทศด้านการผลิต (Manufacturing information system)
  • ระบบสารสนเทศด้านการตลาด (Marketing information system)
  • ระบบสารสนเทศด้านทรัพยากรมนุษย์ (Human resource management information system)
การจำแนกตามการให้การสนับสนุนของระบบสารสนเทศ (Classification by Support Provided)
           การจำแนกตามการให้การสนับสนุนของระบบสารสนเทศ แบ่งเป็น 3 ประเภทย่อย คือ ระบบสารสนเทศแบบประมวลรายการ (Transaction Processing Systems) ระบบสารสนเทศแบบรายงานเพื่อการจัดการ (Management Reporting Systems) และระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision Support Systems)
ระบบสารสนเทศแบบรายงานเพื่อการจัดการ (Management Reporting Systems)
            เป็นระบบสารสนเทศที่ช่วยในการทำรายงานตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ และช่วยในการตัดสินใจที่มีลักษณะโครงสร้างชัดเจนและเป็นเรื่องที่ทราบล่วงหน้า
ระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision Support Systems)
            เป็นระบบสารสนเทศที่ช่วยผู้บริหารตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ มีความยืดหยุ่นสูง และมีลักษณะโต้ตอบได้ (interactive) โดยอาจมีการใช้โมเดลการตัดสินใจ หรือการใช้ฐานข้อมูลพิเศษช่วยในการตัดสินใจ
ระบบสารสนเทศแบบประมวลรายการ(Transaction Processing Systems -TPS)
            เป็นระบบสารสนเทศที่เกี่ยวกับการบันทึกและประมวลข้อมูลที่เกิดจาก ธุรกรรมหรือการปฏิบัติงานประจำหรืองานขั้นพื้นฐานขององค์การ เช่น การซื้อขายสินค้า การบันทึกจำนวนวัสดุคงคลัง เมื่อใดก็ตามที่มีการทำธุรกรรมหรือปฏิบัติงานในลักษณะดังกล่าวข้อมูลที่เกี่ยวข้องจะเกิดขึ้นทันที เช่น ทุกครั้งที่มีการขายสินค้า ข้อมูลที่เกิดขึ้นก็คือ ชื่อลูกค้า ประเภทของลูกค้า จำนวนและราคาของสินค้าที่ขายไป รวมทั้งวิธีการชำระเงินของลูกค้า
ระบบสารสนเทศแบบรายงานเพื่อการจัดการ (Management Reporting Systems MRS)
           ระบบสารสนเทศที่ช่วยในการทำรายงานตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยการสรุปสารสนเทศที่มีอยู่ไว้ในฐานข้อมูล หรือช่วยในการตัดสินใจในลักษณะที่โครงสร้างชัดเจนและเป็นเรื่องที่ทราบล่วงหน้า
หน้าที่ของแบบ MRS
1. ช่วยในการตัดสินใจงานประจำของผู้บริหารระดับกลาง
2. ช่วยในการทำรายงาน
3. ช่วยในการตัดสินใจที่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยๆ และมีโครงสร้างแน่นอน เช่น การอนุมัติสินเชื่อให้กับลูกค้า

ระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision Support Systems-DSS)
             ระบบสารสนเทศแบบ DSS เป็นระบบสารสนเทศที่ช่วยในการตัดสินใจ ซึ่งมีลักษณะมีโครงสร้างไม่ชัดเจน โดยนำข้อมูลมาจากหลายแหล่งช่วยในการนำเสนอและมีลักษณะยืดหยุ่นตามความต้องการ
ลักษณะของ DSS
            1. ระบบสารสนเทศที่ใช้สำหรับการสนับสนุนผู้ตัดสินใจทางการบริหารทั้งที่เป็นตัวบุคคลหรือกลุ่ม โดยการตัดสินใจนั้นจะเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่มีลักษณะเป็นแบบ ไม่มีโครงสร้าง (unstructured situations) โดยจะมีการนำวิจารณญาณของมนุษย์กับข้อมูล จากคอมพิวเตอร์มาใช้ประกอบในการตัดสินใจ
            2. ระบบ DSS ช่วยในการตอบสนองความต้องการที่ไม่ได้คาดการณ์มาก่อนโดยผู้ใช้สามารถปรับข้อมูลใน DSS ได้ตลอดเวลาเพื่อจัดการกับเงื่อนไขต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยใช้การวิเคราะห์ที่เรียกว่า Sensitivity Analysis
            3. ช่วยในการตัดสินใจที่ต้องการความรวดเร็วสูง เพื่อใช้ประกอบในการกำหนดกลยุทธ์ในการแข่งขัน ดังนั้น DSS จึงมีลักษณะการโต้ตอบได้ (interactive)
            4. เสนอทางวิเคราะห์ในทางเลือกต่างๆ ในสถานการณ์ที่มีความซับซ้อน
            5. จัดการเก็บข้อมูลซึ่งมาจากหลายแหล่งได้ ทั้งภายในและภายนอกหน่วยงาน
            6. นำเสนอได้ทั้งรายงานที่เป็นข้อความและกราฟฟิค
1.10 คุณสมบัติของระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ
MIS ที่ดีควรมีลักษณะที่สำคัญ ดังนี้
           1. MIS ถูกนำไปใช้การตัดสินใจของผู้บริหารทุกระดับ ช่วยให้ผู้บริหารสามารถเรียกค้นข้อมูลได้รวดเร็ว แต่ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับปัญหาแบบมีโครงสร้าง (Structured Problems) เน้นการแก้ปัญหาที่เกิดกับงานประจำ
           2. MIS เป็นระบบงาน ซึ่งผสมผสานข้อมูลจากหลาย ๆ แหลางหรือระบบย่อยหลาย ๆ ระบบที่มีความสัมพันธ์กันเพื่อจัดทำสารสนเทศเป็นภาพรวมที่สมบูรณ์ของทั้งระบบ
            3. การพัฒนาระบบสารสนเทศ จะเริ่มจากความต้องการและความเห็นชอบของผู้บริหารเพื่อจัดเตรียมสารสนเทศให้แก่ผู้บริหารช่วยในการตัดสินใจและบรรลุจุดมุ่งหมายโดยรวมองค์กร
            4. MIS จะใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย เนื่องจากข้อมูลในองค์กรหนึ่ง ๆ มีเป็นจำนวนมากและมีความสลับซับซ้อน คอมพิวเตอร์จึงถูกนำมาใช้เพื่อสร้าง MIS ให้แก่ผู้บริหาร ใช้ในการตัดสินใจได้ในเวลาอันรวดเร็วและเหมาะสม
           5. สารสนเทศนั้นจะถือว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งเช่นเดียวกับพนักงานเครื่องจักร เงินทุนและวัตถุดิบ จุดมุ่งหมายของ MIS คือจัดทำสารสนเทศที่เป็นประโยชน์แก่องค์กรเพื่อใช้ควบคุม การทำงานและการจัดการขององค์กร
            6. ทำการจัดเก็บข้อมูลสร้างเป็นฐานข้อมูลเก็บไว้ ซึ่งฐานข้อมูลนี้เป็นการรวบรวมข้อมูลให้เป็นหนึ่งเดียว วัตถุประสงค์คือต้องการจะหลีกเลี่ยงความซับซ้อนของการเก็บข้อมูล
            7. การมีส่วนร่วมของผู้ใช้ MIS จะไม่ประสบความสำเร็จถ้าปราศจากจากความร่วมมือและความพอใจของผู้ใช้งานถึงแม้ว่ามีระบบที่ดีเพียงใดก็ตามถ้าผู้ใช้งานเกิดความรู้สึกต่อต้านและคดว่า MIS จะมาแย่งงานของตนไป
1.11ประโยชน์ของระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ
ประสิทธิภาพ (Efficiency)
    •  ระบบสารสนเทศทำให้การปฏิบัติงานมีความรวดเร็วมากขึ้น
    • ช่วยลดต้นทุน
    • ช่วยให้การติดต่อสื่อสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว
    • ระบบสารสนเทศช่วยทำให้การประสานงานระหว่างฝ่ายต่าง ๆ เป็นไปได้ด้วยดี
ประสิทธิผล (Effectiveness)                                                                                                  
                •  ระบบสารสนเทศช่วยในการตัดสินใจ ระบบสารสนเทศที่ออกแบบสำหรับผู้บริหาร เช่น ระบบสารสนเทศที่ช่วยในการสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision support systems)
                •  ระบบสารสนเทศช่วยในการเลือกผลิตสินค้า/บริการที่เหมาะสมระบบสารสนเทศจะช่วยทำให้องค์การทราบถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับต้นทุน ราคาในตลาดรูปแบบของสินค้า/บริการที่มีอยู่
                •  ระบบสารสนเทศช่วยปรับปรุงคุณภาพของสินค้า/บริการให้ดีขึ้นระบบสารสนเทศทำให้การติดต่อระหว่างหน่วยงานและลูกค้า สามารถทำได้โดยถูกต้องและรวดเร็วขึ้น
                •  ความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Advantage)
                •  คุณภาพชีวิตการทำงาน (Quality o f Working Life)
1.12 การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขององค์กรต่างๆ
  ปัจจุบันพัฒนาการและการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ในองค์การ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ซึ่งก่อให้เกิดความท้าทายแก่ผู้บริหารในอนาคตให้นำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ธุรกิจ ซึ่งเราสามารถจำแนกผลกระทบของเทคโนโลยีที่มีต่อการทำงานขององค์การออกเป็น 5 ลักษณะ ดังต่อไปนี้
                                1. การปรับปรุงรูปแบบการทำงานขององค์การ เทคโนโลยีหลายอย่างได้ถูกนำเข้ามาใช้ภายในองค์การ และส่งผลให้กระบวนการในการทำงานได้เปลี่ยนรูปแบบไป
                           2. การสนับสนุนการดำเนินงานเชิงกลยุทธ์                        
                                3. เครื่องมือในการทำงาน เทคโนโลยีถูกนำเข้ามาใช้ภายในองค์การ เพื่อให้การทำงานคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ     
                           4. การเพิ่มผลผลิตของงาน                    
                           5. เทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสาร

1.13 การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศด้านการศึกษา
เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารการศึกษา (MIS) ความเป็นมา
 1. พรบ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 กำหนดให้ใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หมวด 9 เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ในมาตรา 63-69 ได้กล่าวไว้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาว่า ได้กำหนดบทบาทหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับการจัดการด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา โดยกำหนดขอบเขตครอบคลุมไปถึงการจัดการโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาบุคลากร การวิจัย การจัดตั้งกองทุนและหน่วยงานกลางเพื่อวางนโยบายและบริหารงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีการศึกษา
2. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545–2549) กับเทคโนโลยี ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาความเข้มแข็งทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 4 ด้านดังนี้
 1) การประยุกต์ใช้และการพัฒนาเทคโนโลยี
 2) การพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
 3) การยกระดับการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
             4) การบริหารการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มุ่งประสิทธิผล
3. กรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศระยะ พ.ศ. 2544-2553 ของประเทศไทย กรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศระยะ พ.ศ. 2544-2553 ของประเทศไทยได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ ไว้ 5 ด้าน คือ ด้านการบริหารงานของรัฐบาล (E-GOVERNMENT) ด้านการพานิชยกรรม (E-COMMERCE) ด้านการอุตาสาหกรรม (E-INDUSTRY) ด้านการศึกษา (E-EDUCATION) และด้านสังคม
( E-SOCIETY) โดยได้กำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาด้านการศึกษา (E-Education) ดังนี้ เป้าหมาย พัฒนาและเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากรมนุษย์ในทุกระดับของประเทศ เพื่อรองรับการพัฒนาสู่การเป็นสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้
 ยุทธศาสตร์การพัฒนา
1.พัฒนากลไกการบริหารนโยบายและการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา ที่มีประสิทธิภาพ
2.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศเพื่อการศึกษา ให้เกิดการเข้าถึงอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน
3.สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในทุกระดับ
4.เร่งพัฒนาและจัดหาความรู้ (Knowledge) และสาระทางการศึกษา (Content) ที่มีคุณภาพและมีความเหมาะสม
5.ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสารสนเทศและความรู้
6. แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษาของ ศธ. (พ.ศ. 2547 – 2549) ได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อให้บรรลุซึ่งวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและ การสื่อสาร อย่างเป็นรูปธรรมภายใต้เงื่อนไขที่เป็นจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และภัยคุกคามของ การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2547– 2549 ไว้ 4 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
1. ยุทธศาสตร์ที่ 1 การใช้ ICT เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน ส่งเสริม สนับสนุน ให้ผู้เรียนใช้ประโยชน์จาก ICT เพื่อการเรียนรู้จากแหล่งและวิธีการที่หลากหลาย โดยจัดให้มีการพัฒนาสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พัฒนาผู้สอนและบุคลากรทางการศึกษา พัฒนาหลักสูตรให้เอื้อต่อการประยุกต์ใช้ ICT เพื่อการจัดการเรียนการสอน เพิ่มประสิทธิภาพการเรียนทางไกล จัดให้มีการศูนย์ข้อมูลสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Courseware center) ให้มีการเรียนการสอนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Learning) จัดทำหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e - Book) จัดให้มีห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ (e-Library) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ได้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต (Lifelong Learning) นำไปสู่สังคมแห่งคุณธรรมและสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้
2.ยุทธศาสตร์ที่ 2 การใช้ ICT พัฒนาการบริหารจัดการและให้บริการทางการศึกษา พัฒนาระบบงานคอมพิวเตอร์ ระบบฐานข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการ และพัฒนา บุคลากรทุกระดับที่เกี่ยวข้อง โดยความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาที่มีความพร้อมและเอกชน สร้างศูนย์ปฏิบัติการสารสนเทศ (Operation center) เชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระดับชาติและระดับกระทรวง รวมทั้งส่งเสริมการใช้ ICT เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ และให้บริการทางการศึกษา ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สอดคล้องกับการปฏิรูประบบราชการ
3.ยุทธศาสตร์ที่ 3 การผลิตและพัฒนาบุคลากรด้าน ICT ผลิตและพัฒนาบุคลากร เพื่อรองรับความต้องการกำลังคนด้าน ICT โดยจัดให้มีการพัฒนาหลักสูตร ICT ในทุกระดับการศึกษา พัฒนาผู้สอนและนักวิจัย ส่งเสริมการวิจัย และนำผล การวิจัยไปประยุกต์ใช้ รวมทั้งประสานความร่วมมือกับองค์กรของรัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ในการพัฒนาบุคลากรด้าน ICT เพื่อการพัฒนาการศึกษาและอุตสาหกรรม
4. ยุทธศาสตร์ที่ 4 การกระจายโครงสร้างพื้นฐาน ICT เพื่อการศึกษา จัดให้มีและกระจายโครงสร้างพื้นฐาน ICT อย่างทั่วถึง มุ่งเน้นการจัดหาและใช้ทรัพยากรทางด้านเครือข่ายร่วมกัน จัดหาระบบคอมพิวเตอร์ และซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยร่วมมือกับภาครัฐ เอกชน ชุมชน และท้องถิ่น เตรียมบุคลากรปฏิบัติงานด้าน ICT ให้เพียงพอ รวมทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่ม และการซ่อมบำรุงรักษาอุปกรณ์ ICT ที่มีอยู่ให้มี ประสิทธิภาพในการใช้ปฏิบัติงาน สาระสำคัญที่กล่าวมาข้างต้นเป็นนโยบายและแผนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา อันเป็นตัวกำหนดแนวทางในการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาโดยใช้เทคโนโลยีให้บังเกิดผลตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการศึกษาต่อไป ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น ได้กำหนดแผนแม่บทในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา ที่ตอบสนองแผนระดับชาติและระดับกระทรวง โดยกำหนดยุทธศาสตร์และเป้าหมาย โดยกำหนดยุทธศาสตร์ 4 ด้าน คือ
1. ยุทธศาสตร์ที่ 1 จัดหาระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่าย
2. ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาและสรรหาบุคลากรด้าน ICT
3. ยุทธศาสตร์ที่ 3 การประยุกต์ใช้ ICT เพื่อพัฒนาการเรียนรู้
4. ยุทธศาสตร์ที่ 4 การประยุกต์ใช้ ICT เพื่อการบริหารจัดการ ในยุทธศาสตร์ที่ 4 การประยุกต์ใช้ ICT เพื่อการบริหารจัดการนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้จัดให้มีศูนย์ปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร (ICT Operrating Center) ทุกระดับ ให้มีการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภายนอกและหน่วยงานภายใน รวมทั้งส่งเสริมการใช้ ICTเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและให้บริการทางการศึกษา ให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศของรัฐบาล (E-Government)และด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ( E- Education) โดยมีเป้าหมาย ดังนี้
1. มีระบบฐานข้อมูลสำหรับการบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐานเดียวกันและสอดรับกับทุกระดับ
2. หน่วยงานทุกระดับมีคลังข้อมูล(Data Warehouse) เพื่อการตัดสินใจ
3. มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยผ่านระบบเครือข่าย
4. มีศูนย์ปฏิบัติการด้านICT ระดับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและสำนักงานเขต 5. มีระบบเครือข่ายภายในองค์กร (Intranet) เพื่อใช้ในการบริหารงาน
6. หน่วยงานทุกระดับมี Software ที่ถูกกฎหมายสำหรับการบริหารจัดการและพัฒนาระบบ
7. มีโปรแกรมประยุคที่ใช้ในการบริหารงานด้านบุคลากร ด้านบริหารทั่วไป ด้านงบประมาณ ด้านวิชาการ ด้านติดตามประเมินผล ด้านบริหารกิจการนักเรียนในทุกระดับ
8. มีระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (Geographic Information System: GIS)
9. มีเวปไซท์เพื่อการประชาสัมพันธ์และให้บริการข้อมูลข่าวสารของหน่วยงาน
10.ทิศทางการบริหารจัดการโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ การบริหาร หมายถึง การทำงานให้สำเร็จแต่จะมีกลวิธีใดบ้างที่จะช่วยให้งานสำเร็จได้นั้น โดยเฉพาะในยุคโลกาภิวัตน์ที่โลกเสมือนเล็กลง (Global Village) ในขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรการผลิตลงด้วยนั้น นักบริหารในระยะหลังๆ นี้ พยายามใช้ยุทธศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อมุ่งบรรลุเรื่อง 3 เรื่อง คือ หนึ่งใช้คนเท่าเดิมทำงานได้มากขึ้น สองงานเท่าเดิม แต่ใช้คนน้อยลง และสามคุณภาพของงานต้องดีเท่าเดิม หรือดีกว่า การจะบรรลุเรื่อง 3 เรื่อง ดังกล่าวนั้น จะต้องใช้ยุทธศาสตร์ คือ
 1) การใช้ระบบข้อมูลสารสนเทศ (Information Utilization) เพื่อประกอบการตัดสินใจให้มากขึ้น
 2) การบริหารทางไกล (High-Tech Administration)
 3) การหาความรู้ทำงานกับระบบคอมพิวเตอร์ (Computer Literacy)
 4) การมองการณ์ไกล (Introspection)
 5) การใช้หน่วยงาน/องค์กรอื่นทำงาน (Decentralization)
 6) การจัดรูปองค์กรที่ทำงานได้ฉับไว (Organization Development)
 7) การพัฒนาบุคลากร (Personnel Development) Ïระบบสารสนเทศทางการศึกษา ความหมายของระบบ ระบบ (System) คือ ชุดขององค์ประกอบซึ่งมีปฏิสัมพันธ์ ต่อกันในรูปของความเป็นหนึ่งเดียวและ ดำเนินงานร่วมไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ประกอบด้วยส่วนสำคัญสี่ประการ คือ

1. ข้อมูลนำเข้า (Input)
2. กระบวนการประมวลผล (Process)
3. ผลลัพธ์ (Input)
4. การควบคุมการย้อนกลับ (Feedback Control)
ความหมายของระบบสารสนเทศ ระบบสารสนเทศ (Information System) หมายถึง ชุดของคน ข้อมูล และวิธีการ ซึ่งทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ หรือ สารสนเทศ คือข้อมูลที่ผ่านการประมวลผล บวก ลบ คูณ หาร เปรียบเทียบหรือตรวจสอบแล้วมีความชัดเจนขึ้น สามารถนำมาใช้ในการพิจารณาตัดสินใจ หรือดำเนินการใด ๆ ต่อไปได้ สารสนเทศจะถูกนำเสนอในรูปอัตราส่วน ร้อยละ การเปรียบเทียบ เช่น - อัตราครูต่อนักเรียน - การเปรียบเทียบงบประมาณที่ได้รับปัจจุบันกับอดีต - การเปรียบเทียบผลการดำเนินการนับแต่เริ่มโครงการ - การเปรียบเทียบผลกำไรต่อการลงทุน ทรัพยากรที่สำคัญที่สุดขององค์การคือคน คนคือผู้สร้างงานผลิต เป็นผู้ใช้บริการ เป็นผู้แก้ปัญหา และเป็นผู้ตัดสินใจ คนที่มีคุณภาพจะเป็นกระดูกสันหลังขององค์การ
ประเภทของระบบสารสนเทศ
1. ระบบประมวลผลธุรกรรม (Transaction Processing System : TPS) เป็นเครื่องมือ ของผู้บริหารระดับปฏิบัติการ (Operating Manager) เช่น ระบบสารสนเทศการบัญชี
2. ระบบสารสนเทศการจัดการ (Management Information System : MIS) เป็นเครื่อง ของผู้บริหารระดับสั่งการ หรือระดับกลาง (Tactical Manager) มี 3 ประเภท คือ - รายงานตามตารางการผลิต - รายงานตามต้องการ - รายงานพิเศษ
3. ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision Support System : DSS) เป็นเครื่องมือของผู้ บริหารระดับนโยบาย หรือระดับสูง (Strategic Manager) และผู้บริหารระดับสั่งการหรือระดับกลาง (Tactical Manager)
4. ระบบการสนับสนุนระดับนโยบาย (Executive Support System: ESS) จำเป็นมากสำหรับการบริหารระดับสูง การพัฒนาระบบสารสนเทศ โดยใช้ วัฏจักรของการพัฒนาระบบ SDLC เป็นการติดต่อสื่อสารอย่างต่อเนื่องชัด บุคลากรในระบบสารสนเทศ
1. ผู้ใช้ (User) ได้แก่บุคคลซึ่งใช้ระบบสารสนเทศเมื่อมีการนำออกมาใช้ ได้แก่ ผู้ใช้ คอมพิวเตอร์ และผู้จัดการ
2. นักวิเคราะห์ระบบ (System Analyst) จะทำงานร่วมกับผู้ใช้ เพื่อตรวจสอบความจำเป็นที่ต้องใช้สารสนเทศในกระบวนการของผู้ใช้
3. นักออกแบบระบบ (System Designer) เป็นผู้ออกแบบระบบให้ตรงกับความจำเป็นความต้องการของผู้ใช้
4. นักเขียนโปรแกรม (Programmer) ใช้โปรแกรม เพื่อรหัสคำสั่งสำหรับให้คอมพิวเตอร์แก้ปัญหาได้ Ïระบบสารสนเทศทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ(EIS) โปรแกรมระบบสารสนเทศทางการศึกษาได้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับกับรูปแบบการทำงานที่หลากหลาย โดยสามารถที่ใช้งานบนระบบเครือข่ายที่เป็น Client/Server ,LAN (Netware, WindowsNT) ตัวโปรแกรมเป็นระบบเปิด (Open System) สามารถเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Microsoft SQL, Informix โปรแกรมระบบสารสนเทศทางการศึกษา แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนสำหรับผู้ดูแลระบบ (Administrator) และส่วนสำหรับผู้ใช้ (User) ส่วนผู้ดูแลระบบจะมีหน้าที่กำหนดการเชื่อมต่อฐานข้อมูล กำหนดผู้ใช้และคอย ดูแล ให้การใช้งานโปรแกรมเป็นไปอย่างราบรื่น ส่วนของผู้ใช้นั้น จะมีส่วนกรอกข้อมูลสถิติทางการศึกษา โปรแกรมระบบสารสนเทศทางการศึกษา ได้ถูกแบ่งโปรแกรมออกเป็น 7 ระบบ คือ
1.ระบบสารสนเทศทางการศึกษาสำหรับสถานศึกษา (EIS1) เป็นระบบสำหรับกรอกข้อมูลของสถานศึกษาทุกสังกัดตามแบบ รศ.รค. เพื่อประมวลผลส่งให้กับหน่วยงานระดับสูงขึ้นไป
2.ระบบบริหารสถานศึกษา (EIS2) เป็นระบบที่ใช้ในงานบริหารของสถานศึกษา
3.ระบบสารสนเทศทางการศึกษาสำหรับหน่วยงานระดับอำเภอ (EIS3) เป็นระบบสำหรับกรอกข้อมูลของอำเภอตามแบบ รศภ. เพื่อประมวลผลส่งให้กับหน่วยงานระดับสูงขึ้นไป
4.ระบบสารสนเทศทางการศึกษาสำหรับหน่วยงานระดับจังหวัด (EIS4) เป็นระบบสำหรับรวบรวมข้อมูลสารสนเทศของอำเภอที่อยู่ในจังหวัดนั้นๆ และประมวลผลข้อมูลเพื่อส่งต่อให้กับหน่วยงานเขตและกระทรวงศึกษาธิการ
5.ระบบสารสนเทศทางการศึกษาสำหรับหน่วยงานระดับเขตการศึกษา (EIS5) เป็นระบบสำหรับรวบรวมข้อมูลสารสนเทศของจังหวัดที่อยู่ในเขตการศึกษานั้นๆ และประมวลผลข้อมูลเพื่อส่งต่อให้กับกระทรวงศึกษาธิการ
6.ระบบสารสนเทศทางการศึกษาสำหรับหน่วยงานระดับกระทรวงศึกษาธิการ (EIS6) เป็นระบบสำหรับรวบรวมข้อมูลสารสนเทศของจังหวัด และประมวลผลข้อมูลในภาพรวมของกระทรวงศึกษาธิการ
7.ระบบประมวลผลข้อมูล (EIS7) เป็นระบบสำหรับประมวลผลข้อมูลสารสนเทศของกระทรวงศึกษาธิการเพื่อเผยแพร่ออกสู่ Homepage MOENet Ïการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาของ ศธ. ตามกรอบนโยบายด้าน ICT กระทรวงศึกษาธิการสนองนโยบายของรัฐบาลที่จะพัฒนาระบบเทคโนโลยีการศึกษาและเครือข่ายสารสนเทศ เพื่อเพิ่มและกระจายโอกาสทางการศึกษาให้คนไทยได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกันและเข้าถึงการเรียนรู้ โดยยึดหลักการสร้างชาติสร้างคนและสร้างงาน มีปัญญาเป็นทุนในการสร้างงานและสร้างรายได้ ตั้งแต่รัฐบาลภายใต้การบริหาร ของนายกรัฐมนตรี (พ ต ท.ทักษิณ ชินวัตร) เข้ามาบริหารประเทศ พร้อมทั้งได้กำหนดนโยบายเร่งรัดในการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ ICTเพื่อการศึกษา ปัจจุบันการดำเนินงานตามพันธกิจสำคัญได้มีความก้าวหน้าตามลำดับอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม
1.การส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้พัฒนาขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ โดยพัฒนาขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ของนักเรียนและส่งเสริมให้สถานศึกษาทุกแห่งสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายเข้าถึงกัน
2. การพัฒนาบุคลากร โดยกระทรวงศึกษาธิการมีแผนพัฒนาครูและอาจารย์ทุกคนให้มีความรู้ความสามารถมีทักษะในการใช้ ICT และสามารถนำไปประยุกต์ใช้งาน ได้อย่างเหมาะสม โดยกำหนดหลักสูตรในการพัฒนาไว้ ๖ เรื่องหลัก คือ
             ๑) คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตเบื้องต้น
 ๒) IT Network Administration
 ๓)การใช้โปรแกรมระดับ Advance Course
             ๔) การพัฒนาสื่อเนื้อหาการเรียนรู้
 ๕) การใช้โปรแกรมที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน
             ๖) การฝึกอบรมแกนนำและการฝึกอบรมทางไกลของ สสวท.
3. การพัฒนาสื่อและซอฟต์แวร์
4. การจัดหาและพัฒนาระบบเครือข่ายและคอมพิวเตอร์
5. การพัฒนาระบบข้อมูลและสารสนเทศเพื่อการบริหารและการจัดการ (MIS) โดยมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการระดับกระทรวง (MOC) และเชื่อมโยงกับศูนย์ปฏิบัติการสำนักนายกรัฐมนตรี (PMOC) พร้อมทั้งจัดให้มีศูนย์ปฏิบัติการระดับกรม (DOC) (ของ สพฐ. คือ ObecDOC) และศูนย์ปฏิบัติการในระดับเขตพื้นที่การศึกษา( AOC) ศูนย์ปฏิบัติการระดับโรงเรียน (SOC) เพื่อการติดตามการปฏิรูปการศึกษาและการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่าง ๆ และเชื่อมโยงกับศูนย์ปฏิบัติการสำนักนายกรัฐมนตรี(PMOC) ตามนโยบายรัฐบาล โดยผ่าน websiteของกระทรวง
6. การศึกษาวิจัยเพื่อการจัดหาระบบสารสนเทศด้านภูมิศาสตร์ (ระบบGIS) ได้มีโครงการการศึกษาวิจัยเพื่อการจัดหาระบบสารสนเทศด้านภูมิศาสตร์ (ระบบGIS) ที่เหมาะสมเพื่อใช้ในการเรียนการสอนและการบริหารจัดการ ซึ่งผลการศึกษาวิจัยครั้งนี้ กระทรวงจะมีระบบ Software GIS ในลักษณะ Freeware และลักษณะCommercial ซึ่งเป็นระบบเปิดอย่างละ ๑ ระบบภายในปีงบประมาณ๒๕๔๖นี้